การแต่งงาน ของ แคทเธอรีน เดอ เมดีชี

แคทเธอรีนไม่เคยได้ชื่อว่าเป็นคนสวย เมื่อไปถึงกรุงโรมทูตจากเวนิสบรรยายก็แคทเธอรีนว่าเป็นผู้ที่มี “ร่างเล็ก, และผอม, ไม่มีส่วนที่อ่อนหวาน ประกอบกับการมีตาโปนอันเป็นลักษณะแปลกของตระกูลเมดิชิ”[20] แต่กระนั้นก็มีผู้ที่ต้องการตัวแคทเธอรีนไปเป็นภรรยากันเป็นแถว และเมื่อต้นปี ค.ศ. 1531 พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ก็ทรงเสนอการแต่งงานระหว่างแคทเธอรีนกับพระโอรสอองรีดยุกแห่งออร์เลออง พระสันตะปาปาคลีเมนต์ยินดีต่อข้อเสนอเป็นอันมาก เพราะเป็นสมรสที่จะช่วยเพิ่มฐานะทางอำนาจให้แคทเธอรีน แม้ว่าแคทเธอรีนจะมาจากตระกูลที่มีชื่อเสียงและมีฐานะมั่งคั่งแต่ก็ยังเป็นเพียงคนสามัญชน[11]

งานเสกสมรสระหว่างแคทเธอรีนและอองรีดยุกแห่งออร์เลอองกระทำกันที่มาร์เซย์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1533 เป็นงานใหญ่โตที่แสดงโดยการให้ของขวัญกันอย่างหรูหรา[21][22] อองรีออกจากงานเลึ้ยงราวเที่ยงคืนเพื่อไปทรงทำหน้าที่พระสวามี ทรงเข้าห้องบรรทมพร้อมกับพระราชบิดา กล่าวกันว่าพระเจ้าฟรองซัวส์ประทับอยู่จนกระทั่งคู่สมรสทำการสมสู่กันเสร็จและทรงเปรยว่า “ต่างคนต่างก็มีฝีมือในการรณรงค์” (each had shown valour in the joust) [21] พระสันตะปาปาคลีเมนต์ไปเยี่ยมคู่บ่าวสาววันรุ่งขึ้นและประทานพรในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนก่อนหน้านั้น[23]

หลังจากนั้นในปีแรกแคทเธอรีนก็เกือบไม่ได้พบกับอองรีเท่าใดนัก แต่ข้าราชสำนักฝรั่งเศสก็ปฏิบัติต่อพระองค์เป็นอย่างดีและมีความประทับใจในพระปรีชาสามารถของแคทเธอรีน[24] เมื่อพระสันตะปาปาคลีเมนต์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1534 สถานการณ์ของแคทเธอรีนก็เปลื่ยนไป สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 พระสันตะปาปาองค์ต่อมาไม่ยอมจ่ายค่าสินสอดทองหมั้นจำนวนมหาศาลแก่ฝรั่งเศสตามที่เรียกร้อง จนพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 ถึงกับทรงรำพึงว่าทรงได้แคทเธอรีน “มาแต่ตัวเปล่า” (The girl has come to me stark naked) [25]

อองรีเองนอกจากจะไม่ทรงสนพระทัยในพระชายาแล้วก็ยังไปมีสนมอีกหลายคนอย่างเปิดเผย สิบปีแรกหลังจากการแต่งงานแคทเธอรีนก็ยังไม่มีพระโอรสธิดา นอกจากนั้นในปี ค.ศ. 1537 ฟิลลิปา ดูชิพระสนมคนหนึ่งก็ให้กำเนิดแก่พระธิดา ซึ่งอองรีทรงยอมรับอย่างออกหน้าออกตา[26] การที่อองรีมีพระธิดาเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าอองรีมิได้ทรงเป็นหมันซึ่งเป็นการเพิ่มความกดดันให้แก่แคทเธอรีนหนักยิ่งขึ้นไปอีก

รัชทายาท

ในปี ค.ศ. 1536 ฟรองซัวส์พระเชษฐาของอองรีผู้เป็นรัชทายาทสิ้นพระชนม์จากการทรงจับไข้หลังจากทรงเล่นเทนนิส อองรีจึงกลายมาเป็นรัชทายาท ในฐานะชายาของรัชทายาท (Dauphine) ความกดดันที่มีอยู่ในการมีรัชทายาทเพื่อให้มีผู้สืบสันตติวงศ์ที่มีอยู่แล้วก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นไปอีก[27]

ปิแอร์ เดอ โบเดลล์นักพงศาวดารประจำราชสำนักบันทึกว่า “ต่างคนต่างก็ถวายคำแนะนำแก่พระเจ้าแผ่นดินและรัชทายาทให้ประณามเจ้าหญิงแคทเธอรีนเพราะความจำเป็นที่จะต้องมีรัชทายาทที่จะสืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศส” ที่เจ้าหญิงแคทเธอรีนไม่สามารถทรงทำได้[28] นอกจากนั้นก็ยังมีการกล่าวถึงการหย่าร้าง ความที่ทรงหมดหนทางเจ้าหญิงแคทเธอรีนก็ทรงหาวิธีต่างๆ ที่ทรงคิดว่าจะช่วยให้ทรงครรภ์ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ทรงเอาขี้วัวและผงเขากวางป่นทาบริเวณ “source of life” หรือทรงดื่มปัสสาวะลาเป็นต้น[29] ในที่สุดเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1544 เจ้าหญิงแคทเธอรีนก็ทรงให้กำเนิดแก่พระโอรสที่ให้พระนามว่า “ฟรองซัวส์” ตามพระอัยกา หลังจากที่ทรงครรภ์ได้ครั้งหนึ่งแล้ว เจ้าหญิงแคทเธอรีนก็ไม่ทรงมีปัญหาในการมีพระโอรสธิดาอีกต่อมา ความเปลื่ยนแปลงนี้อาจจะมีสาเหตุมากจากความช่วยเหลือของนายแพทย์ชอง แฟร์เนลผู้ที่สังเกตเห็นความไม่ปกติในอวัยวะเพศของทั้งสองพระองค์และถวายคำแนะนำถึงวิธีเปลี่ยนแปลง[30] เจ้าหญิงแคทเธอรีนมีพระโอรสธิดากับอองรีเจ้าชายรัชทายาทอีก 9 พระองค์ 6 พระองค์ทรงรอดมาจนโตรวมทั้ง เจ้าชายชาลส์ ประสูติเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1550; เจ้าชายอองรี ประสูติเมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1551; และ ฟรองซัวส์ ดยุกแห่งอองชู ประสูติเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1555 ซึ่งเป็นทำให้การมีผู้สืบสายราชวงศ์วาลัวส์เป็นไปอย่างมั่นคง

แต่ความสามารถของเจ้าหญิงแคทเธอรีนในการมีผู้สืบราชบัลลังก์ให้แก่ฝรั่งเศสหลายองค์ก็มิได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และเจ้าชายอองรีดีขึ้นแต่อย่างใด ในปี ค.ศ. 1538 เมื่อเจ้าชายอองรีมีพระชนม์ได้ 19 พรรษาก็ทรงได้ไดแอน เดอ ปอยเตียร์อายุ 38 ปีเป็นพระสนม ไดแอนกลายมาเป็นพระสนมคนโปรดจนตลอดพระชนม์ชีพ[31] แต่กระนั้นอองรีก็ยังทรงยกย่องเจ้าหญิงแคทเธอรีนในฐานะพระชายาอย่างเป็นทางการ[32] เมื่อพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1547 เจ้าชายอองรีก็ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอองรีที่ 2 และเจ้าหญิงแคทเธอรีนก็ได้รับการสวมมงกุฏเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศสที่มหาวิหารแซงต์เดอนีส์ ในปี ค.ศ. 1549

พระราชินีแห่งฝรั่งเศส

เมื่อทรงเป็นกษัตริย์พระเจ้าอองรีก็มิได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้พระราชินีแคทเธอรีนมีอิทธิพลในฐานะพระราชินีแต่อย่างใด[33] เป็นแต่บางครั้งที่ทรงมอบหน้าที่ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อพระองค์มิได้ประทับอยู่ในฝรั่งเศส แต่อำนาจที่ทรงให้ในฐานะที่เป็นผู้สำเร็จราชการก็เป็นเพียงจำกัด[34] ต่อมาพระเจ้าอองรีทรงยกวังเชอนงโซที่พระราชินีแคทเธอรีนเองก็ทรงพระประสงค์ให้แก่ไดแอน เดอ ปอยเตียร์ ซึ่งไดแอนก็ใช้เป็นศูนย์กลางอำนาจของตนเอง[35] ราชทูตรายงานว่าเมื่อพระเจ้าอองรีทรงปรากฏตัวต่อหน้าแขกก็จะทรงประทับบนตักของไดแอนและทรงกีตาร์ ตรัสเรื่องการเมืองไปในขณะที่และทรงเล่นหน้าอกของไดแอนน์ไปพลาง[36] ไดแอนมิได้คิดว่าพระราชินีแคทเธอรีนเป็นคู่แข่งและนอกจากนั้นก็ยังยุให้พระเจ้าอองรีทรงสมสู่กับพระราชินีแคทเธอรีนเพื่อจะได้มีพระโอรสธิดาเพิ่มขึ้น ในปี ค.ศ. 1556 พระราชินีแคทเธอรีนเกือบสิ้นพระชนม์จากการให้กำเนิดพระราชธิดาแฝด ศัลย์แพทย์ต้องช่วยให้ทรงรอดโดยการหักพระเพลาของทารกองค์หนึ่งที่สิ้นพระชนม์ก่อนที่จะกำเนิด[37] พระทารกอีกองค์ที่รอดมาก็มีพระชนม์ชีพอยู่เพียงเจ็ดอาทิตย์ก็สิ้นพระชนม์ หลังจากนั้นพระราชินีแคทเธอรีนก็ไม่มีพระโอรสธิดาอีก

ในรัชสมัยของพระเจ้าอองรี ตระกูลกีสก็เริ่มเรืองอำนาจขึ้นจากการที่ชาลส์ได้ขึ้นเป็นชาลส์คาร์ดินัลแห่งลอร์แรนและ ดยุกฟรองซัวส์แห่งกีส (François, Duke of Guise) พระสหายเมื่อยังทรงพระเยาว์ของพระเจ้าอองรีได้เป็นเคานท์และดยุกแห่งกีส[38] แมรีแห่งกีสน้องสาวของทั้งสองคนแต่งงานกับพระเจ้าเจมส์ที่ 5 แห่งสกอตแลนด์ ในปี ค.ศ. 1538 และเป็นพระชนนีของเจ้าหญิงแมรีผู้ต่อมาเป็นพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ เมื่อเจ้าหญิงแมรีมีพระชนม์ได้ 5 พรรษากว่าๆ พระองค์ก็ทรงถูกนำตัวมาเลี้ยงดูในราชสำนักฝรั่งเศส เพื่อให้เป็นคู่หมายของฟรองซัวส์เจ้าชายรัชทายาทผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอองรี[39] พระราชินีแคทเธอรีนทรงเลี้ยงดูเจ้าหญิงแมรีกับพระโอรสธิดาของพระองค์เองขณะที่แมรีแห่งกีสปกครองราชอาณาจักรสกอตแลนด์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทนพระธิดา[40]

เมื่อวันที่ 3–4 เมษายน ค.ศ. 1559 พระเจ้าอองรีทรงลงพระนามในสนธิสัญญาสงบศึกอิตาลี กับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และอังกฤษซึ่งเป็นการยุติสงครามอันยาวนาน สนธิสัญญาระบุข้อตกลงการหมั้นระหว่างพระธิดาเอลิซาเบธแห่งวาลัวส์พระชนมายุ 13 พรรษาของพระราชินีแคทเธอรีนกับพระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน[41]การแต่งงานโดยฉันทะกระทำกันที่ปารีสเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1559 โดยมีการฉลองต่างๆ รวมทั้งงานเลี้ยง งานสวมหน้ากาก และ การประลองทวนบนหลังม้า (jousting) เป็นเวลา 5 วัน

พระเจ้าอองรีทรงร่วมเข้าแข่งขันในการต่อสู้บนหลังม้าโดยทรงสีขาวดำซึ่งเป็นสีของไดแอน ทรงได้รับชัยชนะต่อดยุกแห่งเนมอรส์ และดยุกฟรองซัวส์แห่งกีส แต่มาทรงเพลื่ยงพล้ำต่อเกเบรียลเคานท์แห่งมอนต์โกเมอรีจนเกือบทรงตกจากหลังม้า แต่ก็ทรงยืนยันว่าต่อสู้ต่อไปได้อีก แต่ครั้งที่สองก็ทรงถูกหอกไม้ยาว (lance) ของเกเบรียลเข้าเต็มพระเศียร[42]จนพระพักตร์โชกไปด้วยพระโลหิต เศษไม้จากหอกก็ยังคาอยู่ในพระเนตรและพระเศียร[43] พระราชินีแคทเธอรีน, ไดแอน และฟรองซัวส์เจ้าชายรัชทายาทต่างก็สิ้นสติกันไปตามๆ กัน พระร่างของพระเจ้าอองรีถูกนำไปที่วังตูร์เนลลส์ (Château de Tournelles) นายแพทย์ดึงเศษไม้ห้าชิ้นออกจากพระเศียรและอีกชิ้นหนึ่งจากพระเนตรที่ทะลุเข้าไปในสมอง พระราชินีแคทเธอรีนทรงเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดข้างพระแท่น แต่ไดแอนมิได้มาอยู่ใกล้ เพราะ “ความกลัวที่ว่าจะถูกไล่โดยพระราชินี” ตามคำกล่าวของผู้บันทึกพงศาวดาร [44] พระอาการระหว่างสิบวันหลังจากนั้นก็ขึ้นๆ ลงๆ บางครั้งก็ทรงรู้สึกพระองค์ดีพอที่จะบอกให้ร่างพระราชสาส์นหรือทรงฟังดนตรีได้ แต่ก็พระอาการก็เริ่มทรุดลงเริ่มด้วยการไม่ทรงมองเห็น ไม่สามารถตรัสได้ และทรงฟั่นเฟือน ในที่สุดพระเจ้าอองรีก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1557 ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาพระราชินีแคทเธอรีนก็ทรงใช้หอกหักเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์โดยมีคำจารึกว่า “หอกนี้เป็นที่มาของน้ำตาและความเจ็บปวด” (“lacrymae hinc, hinc dolor”) และทรงดำเพื่อเป็นการไว้ทุกข์ให้แก่พระสวามี[45]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: แคทเธอรีน เดอ เมดีชี http://ark.cdlib.org/ark:/13030/ft0x0n99zf/ http://en.wikisource.org/wiki/Catholic_Encyclopedi... http://worldcat.org/oclc/1018933 http://worldcat.org/oclc/1367811 http://worldcat.org/oclc/1678642&referer=brief_res... http://worldcat.org/oclc/23700937 http://www.worldcat.org/oclc/39949296&referer=brie... http://www.worldcat.org/oclc/86065266&referer=brie... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Cather...